วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปราสาทเขาพระวิหาร
                  อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอน้ำยืน กิ่งอำเภอน้ำขุ่น จังหวัดอุบลราชธานี และอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ มีเนื้อที่ประมาณ 81,250 ไร่ หรือ 130 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา ถนนและบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารทางด้านบริเวณผามออีแดง ท้องที่ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จัดได้ว่าสะดวกที่สุด

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระวิหาร ป่าฝั่งลำโดมใหญ่ ท้องที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 และกองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในภาค 2 ค่ายสุรนารี นครราชสีมา ซึ่งได้ทำความตกลงกับกรมป่าไม้ กำหนดพื้นที่ป่าไม้ชายแดนให้เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ห้ามเข้าไปและอาศัยอยู่โดยเด็ดขาด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่มาก มีทัศนียภาพที่สวยงาม ตลอดจนโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และได้ขอให้กรมป่าไม้กำหนดและประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป

ผลจากการสำรวจเพื่อดำเนินการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติปรากฏว่า สภาพป่าของพื้นที่เป็นป่าเบญจพรรณ อยู่ในป่าโครงการไม้กระยาเลยป่าเขาพระวิหาร (ศก.7) ผ่านการทำไม้แล้ว กับอีกส่วนหนึ่งอยู่ในป่าโครงการไม้กระยาเลยป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ (อบ.2) มีทัศนียภาพและทิวทัศน์ที่สวยงามอยู่หลายแห่ง อาทิเช่น จุดชมวิวผามออีแดง จุดชมวิวหน้าผาช่องโพย บริเวณป่าและสวนหินรอบสระตราว ถ้ำฤาษี แหล่งตัดหิน สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำใต้ผามออีแดง น้ำตกผาช่องโพย จุดชมวิว ภูเซี่ยงหม้อ ปราสาทโดนตาลและที่สำคัญอีกจุดหนึ่งคือ ปราสาทเขาพระวิหาร โบราณสถานสำคัญเก่าแก่ที่เคยเป็นกรณีพิพาทระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ.2505 ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินให้ตกเป็นสมบัติของประเทศกัมพูชาแล้วโดยเด็ดขาดก็ตาม แต่ถนนและบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารนั้นอยู่ด้านพื้นที่ของประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผ่านและอาศัยพื้นที่ทางขึ้นด้านบริเวณผามออีแดงที่จังหวัดศรีสะเกษ จัดว่าสะดวกที่สุด เพราะฉะนั้นการที่ชาวไทยหรือชนชาติต่างๆ ที่ต้องการเดินทางไปศึกษาหาความรู้และพักผ่อนหย่อนใจบนปราสาทเขาพระวิหาร จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยโดยจังหวัดศรีสะเกษได้ประสานงานตกลงกับจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว ในเรื่องการขอใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวของสถานที่บริเวณส่วนบนปราสาทเขาพระวิหารแห่งนี้ร่วมกัน

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ในท้องที่ตำบลโซง อำเภอน้ำยืน ตำบลโคกสะอาด กิ่งอำเภอน้ำขุ่น อำเภอน้ำยืน จังหวักอุบลราชธานี และป่าเขาพระวิหารในท้องที่ตำบลเสาธงชัย ตำบลภูผาหมอก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 14 ก ลงวันที่ 20 มีนาคม 2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 19 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศ 
 ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก ลาดเอียงไปทางทิศเหนือกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง และเนินเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200-500 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยลำธารต่างๆ ได้แก่ ห้วยตามาเรีย ห้วยตานี ห้วยตาเงิด ห้วยตุง ห้วยตะแอก และห้วยบอน เป็นต้น
 ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพดิน ฟ้า อากาศ ในท้องที่ป่าเขาพระวิหาร ป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ท้องที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม พฤษภาคม ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ตุลาคม ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน กุมภาพันธ์
 พืชพรรณและสัตว์ป่า
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชันเป็นเนินเขา สภาพป่าประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้จะคละปะปนกันมาก เช่น ประดู่ มะค่าโมง แดง ชิงชัน ตะแบก มะเกลือ งิ้วป่า ฯลฯ พืชพื้นล่างมีหญ้าและไผ่ชนิดต่างๆ ป่าเต็งรัง มีต้นไม้ขนาดเล็กและขนาดกลางขึ้นอยู่กระจัดกระจาย พืชชั้นล่างมีหญ้าชนิดต่างๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะหญ้าแพ้ว พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ เต็ง รัง พยอม เขลง ตะคร้อ ฯลฯ ป่าดิบแล้ง พบบริเวณที่ราบเรียบหรือหุบเขา พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียน พะยุง สมพง กระเบากลัก กัดลิ้น ข่อยหนาม ยาง กระบก ฯลฯ พืชพื้นล่างมีหวาย และพืชในตระกูลขิงข่าต่างๆ

เนื่องจากสภาพป่าของป่าเขาพระวิหารและป่าฝั่งซ้ายลำโดมใหญ่ บนเทือกเขาพนมดงรักยังมีความอุดมสมบูรณ์ จึงมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ทั่วไป เช่น หมูป่า ลิงแสม พังพอนธรรมดา กระต่ายป่า หนูท้องขาว กระรอกหลากสี กระแตเหนือ ค้างคาวยอดกล้วยผีเสื้อ นกนางแอ่นลาย นกเขนน้อยปีกแถบขาว นกปรอดทอง นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ นกกินแมลงอกเหลือง นกปีกลายสก็อต จิ้งจกดินลายจุด ตุ๊กแกเขาหินทราย กิ้งก่าบินปีกสีส้ม จิ้งเหลนภูเขาเขมร ตะกวด งูดิน งูเหลือม งูแม่ตะงาว งูหัวกะโหลก กบหนอง เขียดจะนา กบหลังขีด กบนา ปาดบ้าน อึ่งข้างดำ และกบอ่อง เป็นต้น ในบริเวณพื้นที่แหล่งน้ำมีปลาหลากชนิดอาศัยอยู่ เช่น ปลากระสูบจุด ปลาตะเพียนทอง ปลานวลจันทร์เทศ ปลาช่อน ปลาหมอเทศ และปลาดุกด้าน เป็นต้น 









คำตัดสินของศาลโลกเมื่อวันที่ 11 พ.ย.  ได้ตัดสินตามปี 2505 ว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือพื้นที่ทั้งหมดของชะง่อนผาหรือยอดเขาพระวิหาร โดยเอกอัครราชทูตไทยระบุว่าไทยเสียพื้นที่เล็กๆ นั้น แท้จริงแล้วกินพื้นที่แค่ไหนกันแน่
             
          วันนี้(14พ.ย.) จากคำตัดสินของศาลโลกเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ในคดีที่กัมพูชาขอให้ตีความคำตัดสินเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๖ ศาลโลกได้มีมติเป็นเอกฉันท์ รวมผู้พิพากษาสมทบ (Judge ad hoc) ชาวฝรั่งเศสที่ไทยแต่งตั้งด้วย มีสาระคัญ ๒ เรื่อง คือ ส่วนแรกศาลคิดว่าศาลมีอำนาจในการตีความ และส่วนที่สอง ตีความว่า คำตัดสินเมื่อ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๐๕ ได้ตัดสินว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือพื้นที่ทั้งหมดของชะง่อนผาหรือยอดเขา (promontory) พระวิหาร ดังกำหนดไว้ในวรรค ๙๘ ของคำตัดสินปัจจุบัน
คำตัดสินที่  "เป็นคุณแก่ไทย" ตามที่นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ระบุว่า  "เล็ก แคบ จำกัด" นั้นกินพื้นที่แค่ไหน จำเป็นต้องไปดูการบรรยายขอบเขตที่วรรค ๙๘ ซึ่งระบุไว้ดังนี้
การบรรยายขอบเขตของชะง่อนผาพระวิหารตามวรรค ๙๘ แจกแจงได้ดังนี้
  (๑) ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ชะง่อนผาชันดิ่งจากขอบผาลงไปยังตีนเขาและพื้นราบของกัมพูชา (ซึ่งขอบผาที่ว่าก็คือเส้นสันปันน้ำที่เป็นเส้นเขตแดนอย่างที่ควรจะเป็น)
 (๒) ทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ พื้นดินลาดต่ำแต่ไม่สูงชันลงไปยังหุบเขา (พลาญอินทรีย์) ที่แยกพระวิหารออกจากภูมะเขือซึ่งเป็นเนินเขาใกล้เคียง หุบเขาที่ว่าลาดต่ำไปทางทิศใต้ลงไปยังพื้นราบของกัมพูชา ขอบเขตตามทิศนี้ศาลโลกชี้ว่าชะง่อนผาพระวิหารสิ้นสุดที่ตีนเขาของภูมะเขือ และเจาะจงว่าคือแนวที่พื้นดินเริ่มยกตัวสูงขึ้นจากหุบเขา(ฝั่งภูมะเขือ)
(๓) ทิศเหนือ ขอบเขตของชะง่อนผาคือเส้นในแผนที่ภาคผนวกหนึ่ง (Annex I map line) โดยบรรยายว่าเริ่มต้นจากจุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวปราสาทคือจุดที่เส้นจรดกับที่ลาดชัน/หน้าผา (escarpment) ไล่แนวไปยังจุดในทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่พื้นดินเริ่มยกตัวจากหุบเขา (พลาญอินทรีย์) ที่ตีนเขาภูมะเขือ

คำบรรยายขอบเขตชะง่อนผาหรือยอดเขาพระวิหาร ศาลโลกได้ใช้แผนที่ภาคผนวก ๑ และเส้นในแผนที่ภาคผนวก ๑ เป็นเส้นแบ่ง ส่วนที่เหลือใช้ลักษณะทางภูมิศาสตร์และระดับสูงต่ำของพื้นที่ ประเด็นที่ต้องพิจารณาหลักคือ เส้นในแผนที่ภาคผนวก ๑ อยู่ตรงไหนของภูมิศาสตร์จริงหรือในแผนที่ปัจจุบัน เป็นที่ทราบว่าแผนที่ดังกล่าวคือแผนที่ต่อท้ายคำฟ้องคดีปราสาทพระวิหารเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตราส่วน ๑ ต่อ ๒๐๐,๐๐๐ ระวางดงรัก จัดทำขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๔๕๐ (ค.ศ. ๑๙๐๗) ที่มีความคลาดเคลื่อนทางภูมิศาสตร์อย่างมาก และไม่สามารถมาวางทาบในแผนที่ปัจจุบันได้ การกำหนดพิกัดให้ใกล้เคียงเป็นเรื่องยาก ภายหลังกัมพูชาได้มีการนำแผนที่ภาคผนวก ๑ มาขยาย เช่น Map sheet 3 attached to annex 49 (มาตราส่วน ๑ ต่อ ๕๐,๐๐๐) หรือในรูปแบบอื่นที่อ้างว่าเป็นส่วนขยายของแผนนี้ เช่น ที่ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกและเอกสารตอบโต้คำชี้แจงของฝ่ายไทยที่ส่งไปยังศาลโลก เป็นต้น ไทยก็ได้มีการจัดทำแผนที่ลักษณะคล้ายกัน คือ แผนที่เขาพระวิหาร มาตราส่วน ๑ ต่อ ๑๕,๐๐๐ (ปรากฎในเอกสารที่กัมพูชายื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหาร)




แผนที่ทั้งสองแสดงขอบเขตของชะง่อนผาหรือยอดเขาพระวิหารตามแต่จะเรียก ด้วยเส้นประสีแดงและสุดที่ขอบผาเขาพระวิหารเนื่องจากเป็นเขตของไทยแต่เดิมก่อนการตีความ โดยมีข้อสังเกตเพิ่มเติม
     (๑) ศาลโลกให้นับรวมหุบเขาซึ่งคือส่วนที่เป็นพลาญอินทรีย์ เข้าเป็นส่วนเดียวกับชะง่อนผาเขาพระวิหาร (ดูคำอธิบายที่ส่วนแจกแจง ทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ) บริเวณนี้เป็นจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่มีการปะทะเกิดขึ้นหลายครั้ง
    (๒) จุดทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (บริเวณผามออีแดง) ที่อธิบายจุดเริ่มของเส้นในแผนที่ภาคผนวก ๑ มีความเป็นไปได้ ๒ แนวทาง คือ จุดแดงที่อยู่เหนือศูนย์วัฒนธรรมขึ้นไปซึ่งเป็นบริเวณจุดบรรจบที่พบในแผนที่ต่าง ๆ กับ จุดสีเหลืองอยู่บริเวณขอบผาของศาลาจุดชมวิว ซึ่งสอดคล้องกับการบรรยายของศาลโลก
จากการคำนวนเบื้องต้นขอบเขตของชะง่อนผาพระวิหารมีพื้นที่ใกล้เคียง ๑/๒ ของพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม. ที่เขมรรุกล้ำเข้ามา นอกจากนี้มีความชัดเจนว่าการบรรยายขอบเขตกินความไกลเกินกว่าคำว่าชะง่อนผา คือรวมเอา (๑) พื้นที่หุบเขาพลาญอินทรีย์ (๒) เนินที่ตั้งของสถูปคู่และธงชาติไทย เข้าไว้ด้วย ทั้งนี้ ไม่นับรวมว่าอาจมีการตีความกินพื้นที่ผามออีแดงที่มีรูปสลักนูนต่ำและอื่นๆ เข้าไปด้วย
หากจะจำกัดพื้นที่ของชะง่อนผาให้ตรงตามภูมิศาสตร์จริง เส้นแบ่งสำคัญทางทิศเหนือควรเป็นห้วยตานี และใช้ห้วยนี้เป็นแนวเริ่มจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันตกเฉียงเหนือสิ้นสุดที่หุบซึ่งอยู่ใต้สมบกคะมุม (ไม่ไกลจากวัดแก้ว)
แม้ศาลโลกจะพยายามบอกว่าไม่ได้ตีความเขตแดน แต่การใช้เส้นในแผนที่ภาคผนวก ๑ กำหนดขอบเขตล่วงเลยไปไกลกว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเอ่ยว่าศาลโลกให้ใช้เส้นนี้แบ่งเขตระหว่างไทย-กัมพูชา คือการชี้เขตแดนโดยนัย ส่วนที่ศาลขอให้ทั้งสองประเทศร่วมกันดูแลมรดกโลกนั้น เห็นว่าศาลโลกทะลึ่งพูดเลยเถิดไปไกลเกินกว่าคำขอของกัมพูชาและเกินขอบเขตหน้าที่ของตัวเอง